วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

จุดมุ่งหมายการศึกษาในอดีต


การปฏิรูปการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พ.ศ.2411-2453

                    การปฏิรูปการศึกษาในรัชกาลที่ 5 นับได้ว่าเป็นการปฏิรูปที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะแสดงให้เห็นว่า รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ซึ่งจะมีส่วนในการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาของตะวันตก ซึ่งมีความเจริญก้าวห้าไปมากแล้ว1.ความเป็นมาของการศึกษาไทยในอดีต
                    ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การศึกษาของคนไทยจะอาศัยวัดเป็นสถานที่อบรมสั่งสอนกุลบุตรทั้งหลาย เช่น การสอนหนังสือให้อ่านออกเขียนได้และการสอนวิชาช่างต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ชายไทยทุกคนเมื่อครบ 20 ปี ก็จะต้องเข้าสู่เพศบรรพชิต โดยขณะที่บวชเป็นพระจำพรรษาอยู่ที่วัดก็จะได้รับการอบรมสั่งสอนในด้านการเขียนการอ่านและวิชาช่างต่างๆ ส่วนสตรีไทยก็จะได้รับการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับกิริยามารยาท การเย็บปักถักร้อย และงานประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับดอกไม้จากครอบครัวของตนเอง เพื่อเตรียมตัวเป็นแม่บ้านที่ดีต่อไป
                    สมัยรัชกาลที่ 4 ไทยได้ทำการติดต่อกับชาติตะวันตกอย่างกว้างขวาง อันเป็นผลมาจากการทำสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ.2398 และทำให้พระองค์ทรงสนพระทัยภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก จึงทรงศึกษาภาษาอังกฤษจนใช้การได้ดี และนำประโยชน์จากการเรียนภาษาอังกฤษไปใช้ในการปรับเปลี่ยนนโยบายาการบริหารบ้านเมืองของพระองค์อีกด้วย
                    พ.ศ.2404 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้จ้างนางแอนนาเลียวโนเวนส์ สตรีชาวอังกฤษมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยตั้งโรงเรียนขึ้นพระบรมมหาราชวัง ให้บรรดาพระเจ้าลูกยาเธอที่พระชันษาพอจะเล่าเรียนได้เข้าเรียนทุกพระองค์ นางแอนนาสอนอยู่ได้ประมาณ 3 ปีก็กลับไป ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างนายเชนต์เลอร์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ทำหน้าที่เป็นครูสอนแทน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตก
http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/Pa-tirup-Education.htm
2.สาเหตุที่ก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5
                1.การคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีต่อประเทศไทยในขณะนั้นเป็นกระแสกดดันให้ไทยต้องปรับปรุงประเทศในทุกๆด้าน และการเปลี่ยนแปลงนี้รัชกาลที่ 5 ทรงมีความเห็นว่า การปรับปรุงการศึกษาตามแบบสมัยใหม่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก
                2.การได้รับอิทธิพลทางด้านสติปัญญาและความคิดตามแบบตะวันตกจากชาวยุโรปและอเมริกันที่มาเมืองไทยเพื่อการค้า เผยแผ่ศาสนาและเผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาแบบใหม่ให้กับสังคมไทยด้วย
                3.การเสด็จประพาสต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งในเอเชียและยุโรป ได้ทำให้พระองค์ทรงได้แนวคิดในการจัดการศึกษาแบบใหม่มาใช้กับประเทศไทยด้วย
                4.สืบเนื่องมาจากการเลิกทาสซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะให้ผู้ที่พ้นจากการเป็นทาสนำไปใช้ในการยังชีพ เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาเป็นทาสอีก
                5.สืบเนื่องมาจากความต้องการบุคคลเข้ารับราชการ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่ได้รับการศึกษาตามแบบใหม่เข้าทำงาน
3.จุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการศึกษา
               
จุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการศึกษา ที่สำคัญมี 3 ประการ คือ
                    1.เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการ
                    2.เพื่อให้ราษฎรมีความรู้สูงขึ้น จะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนและเป็นรากฐานที่สำคัญในการปรับปรุงประเทศ   
                    3.เพื่อประโยชน์ทางด้านศาสนาให้เด็กได้ใกล้ชิดพระศาสนามากขึ้น และเป็นรากฐานในการศึกษาพระศาสนาต่อไป
4.การดำเนินงานปฏิรูปการศึกษา
               
4.1 การจัดตั้งโรงเรียนหลวงและโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษใน พ.ศ.2414
                        โดยการจัดตั้งโรงเรียนหลวงใน พ.ศ. 2414 เป็นโรงเรียนแห่งนี้แตกต่างโรงเรียนแบบโบราณหรือโรงเรียนวัด เพราะมีสถานที่เล่าเรียนจัดไว้เฉพาะ มีฆราวาสเป็นครูและทำการสอนตามเวลาที่กำหนด วิชาที่สอนมีทั้งภาษาไทย ภาษาต่างประเทศและวิชาอื่นๆ ที่ไม่เคยสอนในโรงเรียนแบบโบราณและรับนักเรียนไว้เฉพาะ เพื่อจะได้ฝึกฝนเล่าเรียนให้รู้หนังสือ รู้จักคิดเลขและเรียนรู้ขนบธรรมเนียมให้ชัดเจน   หลังจากจัดตั้งโรงเรียนหลวงแล้ว ทรงสถาปนาโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นอีก เพื่อสอนภาษาให้แก่เจ้านายสำหรับใช้ประโยชน์ในการเจรจากับชาวต่างประเทศและผู้แทนของมหาอำนาจตะวันตก
                4.2 การสถาปนาโรงเรียนทหารมหาดเล็กใน พ.ศ.2424
                        พ.ศ.2424 ทรงสถาปนาโรงเรียนทหารมหาดเล็กขึ้นและขยายกิจการออกไปเป็นโรงเรียนที่สอนวิชาพลเรือนด้วยใน พ.ศ.2425 ณ พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง
                4.3 การสถาปนาโรงเรียนสำหรับทวยราษฎร์แห่งแรกใน พ.ศ. 2427
                    พ.ศ.2427 ทรงโปรดเกล้าฯให้สถาปนาโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ   เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาแบบใหม่เช่นเดียวกับบรรดาบุตรหลานของเจ้านายและขุนนางที่เรียนอยู่ในวัง
                4.4 การจัดตั้งโรงเรียนในมณฑลต่างๆใน พ.ศ. 2428 เพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนตามหัวเมือง เป็นผลให้การศึกษาขยายออกไปอย่างกว้างขวางตามลำดับ
                4.5 การจัดตั้งกรมศึกษาธิการใน พ.ศ. 2430
              จากการที่ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรทั้งในกรุงเทพฯและในหัวเมือง เพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนตามหัวเมืองต่างๆ เป็นผลให้การศึกษาขยายออกไปอย่างกว้างขวางจึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง จึงทรงโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกรมศึกษาธิการขึ้นใน พ.ศ. 2430 เพื่อรับผิดชอบการจัดการศึกษา โดยมีหน้าที่ควบคุมดูแลทางด้านการศึกษา การจัดตั้งโรงเรียน ดูแลเรื่องหนังสือแบบเรียนหลวงและการสอบไล่
                4.6 การจัดตั้งกระทรวงธรรมการใน พ.ศ.2435
                        ภายหลังที่ได้มีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินใน พ.ศ.2435 ได้มีการยกฐานะกรมศึกษาธิการขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ และได้มีการจัดประเภทของโรงเรียนออกเป็น 2 ประเภท คือ
                        1)โรงเรียนมูลศึกษา จัดตั้งทั่วไปทั้งในกรุงและหัวเมือง มีวัตถุประสงค์ที่จะขยายการเรียนหนังสือไทยให้แพร่หลายและเป็นแบบแผนยิ่งขึ้น โรงเรียนประเภทนี้มี 2 แบบ คือ โรงเรียนมูลศึกษาชั้นต่ำและโรงเรียนมูลศึกษาชั้นสูง โรงเรียนที่จัดการศึกษาแบบนี้เรียกว่า โรงเรียนหลวง
                        2)โรงเรียนเชลยศักดิ์ เป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยการอนุมัติของกระทรวงธรรมการเปิดสอนเหมือนกับโรงเรียนหลวง แต่เปิดสอนภาษาไทยโบราณ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนและภาษาแขก เรียกว่า โรงเรียนเชลยศักดิ์พิเศษ
                        พ.ศ.2420 ได้มีโรงเรียนประเภทเดียวกันนี้เกิดอีกโรงเรียนคือ โรงเรียนอัสสัมชัญ ส่วนโรงเรียนราษฎร์ของไทย คือโรงเรียนบำรุงวิทยาลัย ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2448  สำหรับการศึกษาของสตรี มิชชันนารีอเมริกันที่มีบทบาทต่อการศึกษาของสตรี คือ นางแฮเรียท เอ็ช.เฮาส์ ได้เคยเข้าไปทำการสอนในพระบรมมหาราชวังสมัยรัชกาลที่ 4 มาแล้ว ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้เป็นผู้พยายามตั้งโรงเรียนกินนอนสตรีที่จัดตามแบบตะวันตกแท้ๆ ในประเทศไทย เรียกว่า โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง พ.ศ.2417
                        พ.ศ.2438 ได้มีการจัดการศึกษาและหลักสูตรใหม่ คือจัดชั้นเรียนเป็นประโยค 1 ประกอบด้วยชั้น 1,2,3 ประโยค 2 ประกอบด้วยชั้น 1,2,3 ประโยค 3 ประกอบด้วย 1,2,3,4
                4.7 การประกาศใช้โครงการศึกษาของชาติใน พ.ศ. 2441 โครงการนี้ได้แยกประเภทการศึกษาออกเป็นดังนี้
                        1)การศึกษาสามัญศึกษา ประกอบด้วยมูลศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา
                        2)การศึกษาพิเศษ เรียนวิชาเฉพาะที่มีการฝึกหัดอาจารย์ ศิลปะ กฎหมาย การแพทย์ การช่าง การค้า การเพาะปลูก  สำหรับการศึกษาในหัวเมือง การจัดการศึกษาจะแบ่งออกเป็นมณฑลการศึกษาทุกมณฑล การศึกษาจะมีสารวัตรใหญ่ทางการศึกษาทำหน้าที่ตรวจสอบวางแผนการเล่าเรียนและทำรายงานประจำปี ส่วนเมืองที่เป็นศูนย์กลางของมณฑลจะมีโรงเรียนฝึกหัดครู ทำการผลิตครูป้อนโรงเรียนต่างๆในมณฑลนั้น นอกจากนี้แล้วแต่ละมณฑลจะต้องมีโรงเรียนมัธยมศึกษาด้วย
                    พ.ศ.2441 การจัดการศึกษาในหัวเมืองให้แยกออกจากกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ โดยให้ผู้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส และภายการสนับสนุนของกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดี กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่จัดการศึกษาของกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ซึ่งมีเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น ส่วนการศึกษาในหัวเมืองมอบหมายให้คณะสงฆ์จัดการภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย
                    4.8 การประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2445 โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 สาย คือ สายสามัญและสายวิสามัญ ในการจัดการศึกษาได้แบ่งงานกันระหว่างพระสงฆ์กับกรมศึกษาธิการดังนี้คือ พระสงฆ์จัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา ส่วนในระดับสูงกว่าชั้นประถมศึกษาเป็นหน้าที่ของกรมศึกษาธิการ
                    4.9 การปรับปรุงการจัดการศึกษาใน พ.ศ.2450 ได้มีการแบ่งสายของสามัญศึกษาออกเป็น 2 สาย คือ สายสามัญกับสายพิเศษ และได้มีการแก้ไขหลักสูตรใน พ.ศ.2451 โดยมีหลักสูตรสำหรับเด็กหญิงในชั้นมูลศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา แต่ไม่มีภาษาอังกฤษ วิชาคำนวณก็ลดน้อยลง มีเลขเพียงอย่างเดียว แต่เพิ่มวิชาการเรือน สุขวิทยา จรรยา ศิลปะ(การฝีมือ ทอผ้า ดนตรี ขับร้องและการครัว) ส่วนผู้ที่ต้องการเรียนภาษาอังกฤษก็ต้องเรียนชั้นมัธยมศึกษาพิเศษที่จัดไว้ต่างหาก
                    4.10 การแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาระหว่างกระทรวงธรรมการและกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2452 โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการศึกษาเบื้องต้นให้ทวยราษฎรทั่วราชอาณาจักรรับไปดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ. 2453 เป็นต้นไป ส่วนการศึกษาชั้นสูงนั้นให้กระทรวงธรรมการเป็นผู้จัด
5.บทบาทของคณะสงฆ์ในการจัดการศึกษาตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา
           
    5.1 สาเหตุที่คณะสงฆ์เข้าไปมีบทบาทในการจัดการศึกษาตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษา
                   หลังจากรัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษาให้ทันสมัยตามแบบตะวันตกตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน ทรงขอให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เจ้าคณะรองคณะธรรมยุตินิกาย เป็นผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษาในหัวเมือง เพราะมีเหตุผลดังนี้
                    1) การศึกษาในหัวเมืองยังไม่สามารถขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางได้ตามที่รัฐบาลต้องการ เนื่องจากกลไกของรัฐบาลยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนกำลังคนที่มีความสามารถไปดำเนินการ
                    2) ความสามารถเฉพาะพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เจ้าคณะรองคณะธรรม-ยุตินิกาย เพราะทรงมีความรอบรู้ในการศึกษาแบบใหม่ ได้ทรงจัดการศึกษาในมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นวิทยาลัยสงฆ์เกิดผลดีเป็นอย่างมาก เพราะเรียนทั้งภาษาไทย บาลี สันสฤต อังกฤษ คณิตศาสตร์เบื้องต้น และวิชาการอื่นๆ อีกหลายอย่าง นอกจากนี้จัดให้มีการสอบแบบใหม่ด้วยการสอบข้อเขียน มีการคิดคะแนนในการสอบซึ่งเป็นการตัดสินว่าสอบได้หรือสอบตก ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงพอพระทัยมาก
                    3) คณะสงฆ์มีกำลังคน คือ พระภิกษุที่สามารถอ่านออกเขียนได้ สามารถที่จะเป็นครูสอน และนอกจากนั้นก็ยังมีสถานที่คือวัดซึ่งใช้แทนโรงเรียนได้ ดังนั้นการที่คณะสงฆ์และพระภิกษุสงฆ์ที่กระจายอยู่ตามหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักรเข้ามามีบทบาทช่วยจัดการศึกษาในหัวเมือง ถือว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลไปได้บ้าง
                5.2 การจัดการศึกษาตามหัวเมืองของคณะสงฆ์
                     ภายหลังจากกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงรับนโยบายที่จะขยายการศึกษาออกไปตามหัวเมืองจากรัชกาลที่ 5 แล้ว พระองค์ทรงดำเนินนโยบายดังนี้คือ
                    1) ปลุกใจข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนให้สละเงินจัดตั้งโรงเรียนตามวัดหรือตามบ้าน ส่วนรัฐบาลเป็นแต่เพียงให้เงินบำรุงตามสมควร และแจกหนังสือแบบเรียนหลวงให้ฟรี
                    2) ให้มหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูสอนวิชาความรู้สมัยใหม่แก่ภิกษุที่ส่งมาจากหัวเมืองต่างๆ เพื่อกลับไปเป็นครูสอนในท้องที่ภูมิลำเนาเดิม
                    3) ต้องมีการสอนจริยธรรมแก่นักเรียน
                    4) ช่วยแต่งหนังสือแบบเรียน
                    กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสได้ดำเนินการพิจารณาแต่งตั้งพระราชาคณะที่มีความสามารถเป็นผู้อำนวยการประจำมณฑล แต่ไม่ครบทุกมณฑล เพราะหาผู้ที่มีความสามารถไม่ได้ ต่อจากนั้นให้ผู้อำนวยการศึกษาประจำมณฑลตั้งผู้อำนวยการศึกษาประจำเมือง เพื่อช่วยกันดำเนินงานจัดการศึกษาตามนโยบายรัชกาลที่ 5 ทรงมอบหมายไว้
                    หลังจากนั้นไม่นาน ข้าราชการและประชาชนที่มีความศรัทธาต่อคณะสงฆ์ ก็ได้ให้ความร่วมมือช่วยกันจัดสร้างโรงเรียน จนกระทั่งมีโรงเรียนตั้งใหม่เกิดขึ้นในหัวเมืองเป็นจำนวนมากและเร็วกว่าที่รัฐบาลจะลงมือทำเองเสียอีก   ในระหว่างที่กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองอยู่นั้น พระองค์ทรงตรวจพิจารณาแบบเรียนทุกเรื่องที่กรมศึกษาธิการจะพิมพ์จำหน่ายด้วยพระองค์เอง
                    การจัดการศึกษาในหัวเมืองของคณะสงฆ์ดำเนินต่อมาจนถึง พ.ศ.2445 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ทรงขอโอนจัดการศึกษาในหัวเมืองไปให้กระทรวงธรรมการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้เพราะพระราชาคณะที่เป็นผู้อำนวยการให้หัวเมืองต้องประสบกับความยากลำบากในการเดินทาง ทำให้ต้องอาพาธอยู่เสมอ ประกอบกับต้องเกี่ยวข้องกับการเบิกเงินไปดำเนินการอันขัดกับข้อวัตรปฏิบัติของสงฆ์ รัชกาลที่ 5 ทรงเข้าใจเหตุผลจึงทรงอนุญาต กระทรวงธรรมการ   จึงดำเนินการจัดการศึกษาในหัวเมืองแทนคณะสงฆ์นับแต่นั้นมา
6.ผลของการปฏิรูปการศึกษา
               
1. ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างมาก เพราะการศึกษาสมัยใหม่ได้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาบุคคลทุกระดับ ให้มีความรู้ความเข้าใจต่อการปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก
                2. สามารถสนองตอบต่อการปฏิรูประบบราชการสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี เพราะระบบราชการสมัยใหม่ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้อ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ต้องการในเบื้องต้น
                3. เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของบุคคลที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากระบบไพร่และทาส
                4. ส่งผลให้อาชีพรับราชการเป็นที่นิยมของสังคมไทยตั้งแต่นั้นมา เพราะทางราชการได้เสริมสร้างให้คนมีการศึกษาได้เข้ารับราชการ แล้วได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่าผู้อื่น
                5. การปฏิรูปการศึกษาได้เป็นพื้นฐานที่จะพัฒนาบุคคลให้ได้รับการศึกษาในระดับสูงต่อไปในต่างประเทศ  โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ซึ่งคนเหล่านี้ต่างก็ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งเจ้านาย ขุนนางและข้าราชการ  ภายหลังที่จบการศึกษาจากต่างประเทศแล้ว บุคคลเหล่านี้ก็กลายเป็นผู้นำสมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยในระยะหลังต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะผู้ก่อการในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ก็เป็นผลิตผลของนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น