วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

การศึกษาในอดีต - ปัจจุบัน

กว่า 120 ปีมาแล้ว ที่ โรงเรียนแห่งแรกได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการ นับแต่นั้นมาระบบการศึกษาของไทยก็ได้เหวี่ยงตัวอยู่ภายใต้ระบบโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจเรื่อยมายุคแล้วยุคเล่าโดยตลอด
สานปฏิรูป ฉบับส่งท้ายปีเก่านี้ ใคร่ขอเสนอภาพของเส้นทางการศึกษาไทยที่เริ่มปรากฏโครงสร้างชัดเจนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งถึงปัจจุบัน พร้อมได้สอดแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับการศึกษาของแต่ละยุคสมัยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
(หมายเหตุ : เนื่องด้วยรายงานเรื่องนี้ค้นคว้ามาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่ง บางเหตุการณ์จึงอาจปรากฏทั้งวันที่ เดือน และปี พ.ศ. ขณะที่บางเหตุการณ์ปรากฏเพียงเดือนและปี พ.ศ.  หรือปี พ.ศ. อย่างเดียว)
มกราคม  2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง โรงเรียนหลวง” (โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ) สำหรับบุตรหลานคนชั้นสูงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นโรงเรียนแรกตามรูปแบบของโรงเรียนในปัจจุบัน กล่าวคือมีสถานที่ซึ่งจัดไว้โดยเฉพาะ มีฆารวาสเป็นครู และมาทำการสอนตามเวลาที่กำหนด สำหรับความมุ่งหมายในการตั้งโรงเรียนคือ การสร้างคนให้มีความรู้เพื่อเข้ารับราชการ (ต่อมาได้มีการขยายโรงเรียนหลวงออกไปอีกหลายแห่ง)
2414 (หลังจากก่อตั้งโรงเรียนหลวง) พระยาศรีสุนทรโวหารได้เรียบเรียงแบบเรียนหลวงขึ้น มี 6 เล่ม สำหรับใช้เป็นหลักสูตรวิชาชั้นต้น แบบเรียนทั้ง 6 เล่มคือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิตนิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจนพิจารณ์ และ พิศาลการันต์
พฤษภาคม 2427 จัดให้มีการ วิธีไล่หนังสือไทยหรือการสอบไล่ ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ปรากฏว่าในการสอบไล่ครั้งที่ 3 ที่จัดให้มีขึ้นในปี พ.ศ. 2429 นอกจากนักเรียนของสวนกุหลาบแล้ว มีนักเรียนจากที่อื่นมาทำการสอบเพิ่มขึ้น ดังมีผลสอบคือ 1.โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ 23 คน ได้ 10 คน ตก 13 คน 2. โรงเรียนสราญรมย์  5 คน ได้ 3 คน ตก 2 คน 3. โรงเรียนวัดต่างๆ 41 คน ได้ 13 คน ตก 28 คน
มีนาคม  2428 ได้มีการกำหนด หลักสูตรประโยคต้น และ ประโยคสองขึ้น นับเป็นการเริ่มต้นปรับปรุงหลักสูตรอย่างมีแบบแผนรัดกุมเป็นครั้งแรก (หลักสูตรชั้นต้นนั้นคือการเรียนแบบเรียนหลวงทั้ง 6 เล่ม ส่วนหลักสูตรประโยคสองแบ่งเป็น 8 วิชาโดยมุ่งเน้นทักษะสำหรับฝึกคนให้ไปเป็นเสมียนรับราชการ)
มิถุนายน 2428 มีการ ประกาศโรงเรียนโดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการประกาศชี้แจงความมุ่งหมายของการศึกษาและชักชวนให้ราษฎรนิยมการเรียนหนังสือ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรแห่งแรกขึ้น ที่วัดมหรรณพาราม เมื่อ พ.ศ. 2427 ซึ่งปรากฏว่ามีประชาชนแตกตื่น กลัวว่าจะเป็นการเกณฑ์เอาบุตรหลานของตนไปเป็นทหาร
6 เมษายน  2430 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง กรมศึกษาธิการโดยโอนโรงเรียนต่างๆ ที่เคยอยู่ในสังกัดกรมทหารมหาดเล็ก และโรงเรียนทั้งหมดมาขึ้นกับกรมศึกษาธิการ
2431 มีคำสั่งยกเลิกการใช้ แบบเรียนหลวง 6 เล่มของพระยาศรีสุนทรโวหาร โดยให้ใช้ แบบเรียนเร็วของกรมศึกษาธิการแทน โดยเพิ่มความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากวิชาภาษาไทย
2432 กรมศึกษาธิการได้ไปรวมอยู่ในบังคับบัญชาของกรมธรรมการ และในปีต่อมา(2433)ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมธรรมการ
1 เมษายน 2435 ตั้งกระทรวงธรรมการ โดยนำกรมต่างๆมารวมกันคือ กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล กรมพิพิธภัณฑ์ และกรมสังฆการี การจัดตั้งกระทรวงธรรมการถือเป็นการรวบความรับผิดชอบในการศึกษาที่เคยแยกเป็น 2 ฝ่ายคือ พุทธจักร กับอาณาจักร เข้ามาสู่ความรับผิดชอบของหน่วยงานเดียว
20 มิถุนายน 2435 ประกาศตั้ง โรงเรียนมูลศึกษาขึ้นในวัดทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง โดยมีเป้าหมายต้องการขยายการเรียนหนังสือไทยให้แพร่หลาย และเป็นแบบแผนยิ่งขึ้น โรงเรียนมูลศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือโรงเรียนมูลศึกษาชั้นต่ำ และโรงเรียนมูลศึกษาชั้นสูง สำหรับเอกชนที่ต้องการจะตั้งโรงเรียนทั้งสองชั้น สามารถขออนุญาตกระทรวงธรรมการจัดตั้งเป็น โรงเรียนเชลยศักดิ์
12 ตุลาคม 2435 จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นเป็นครั้งแรก โดยอาศัยโรงเลี้ยงเด็กเป็นสถานที่เรียน(ต่อมาคือโรงเรียนเบญจมราชูทิศ) มีนาย เอช. กรีนรอด ชาวอังกฤษเป็นอาจารย์ใหญ่ ลูกศิษย์ของนายกรีนรอดมีอาทิเช่น นายนกยูง(พระยาสุรินทราชา) นายบุญรอด(พระยาภิรมย์ภักดี) นายสนั่น(เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี) และนายเหม(พระยาโอวาทวรกิจ)
1 กันยายน 2439 จัดตั้งโรงเรียนในทำนอง ปับลิคสกูลขึ้นที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เรียกว่า โรงเรียนราชวิทยาลัยโดยมีจุดหมายสองประการคือ การเตรียมคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ และการเตรียมคนเข้ารับราชการในกระทรวงต่างๆ
ใน พ.ศ. 2440 ช่วงกลางปีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก การเสด็จประพาสในครั้งนี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากแก่การศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแนวความคิดการจัดการศึกษา
21 มิถุนายน 2441 กระทรวงธรรมการได้เสนอโครงแผนการศึกษาในกรุงสยามของกรมศึกษาธิการวัตถุประสงค์ของแผนฯเป็นไปเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษาในประเทศให้สูงขึ้น แทนการส่งคนไปเรียนต่างประเทศ
11 พฤศจิกายน 2441 ได้มี ประกาศจัดการเล่าเรียนในหัวเมืองโดยมีนโยบายอาศัยคณะสงฆ์ให้เป็นกำลังหลักในการศึกษาตามหัวเมือง
16 มิถุนายน 2445 ประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ซึ่งในแง่มุมของการศึกษา ถือเป็นการแบ่งงานระหว่างพระสงฆ์กับกรมศึกษาธิการ โดยพระสงฆ์จะจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษา ส่วนในระดับสูงกว่าเป็นหน้าที่ของกรมศึกษาธิการ
6 กันยายน 2445 คณะข้าหลวงตรวจการศึกษาของไทยไปดูการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น  และต่อมาได้ประกาศใช้เป็น โครงการศึกษา ปี พ.ศ. 2445” (แผนการศึกษาญี่ปุ่นเป็นแผนการศึกษาที่ใหม่ที่สุดในเวลานั้น โดยญี่ปุ่นได้ส่งคนไปศึกษาแผนการศึกษาของชาติต่างๆ ทั้งยุโรปและอเมริกา และนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสังคมของญี่ปุ่น)
โครงการศึกษา พ.ศ. 2445 ได้แบ่งหลักสูตรออกเป็น 3 ระดับ คือ ชั้นต้น(ประถมศึกษา) ชั้นกลาง(มัธยมศึกษา) และชั้นสูง(อุดมศึกษา) หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงโครงการศึกษาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ใน พ.ศ. 2450 และ พ.ศ. 2452
6 มกราคม 2447  จัดตั้ง สามัคยาจารย์สมาคมและมีการออก จดหมายเหตุของสมาคมเป็นรายปักษ์ ต่อมาได้กลายเป็นหนังสือ วิทยาจารย์ การก่อตั้งสมาคมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือการจัดฝึกอบรมครู
1 มกราคม 2453 ประกาศจัดตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยหมายที่จะผลิตนักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการออกไปรับราชการ สำหรับเงินทุนในการก่อสร้างนั้นอาศัยจากเงินคงเหลือจากที่ประชาชนบริจากในการสร้างพระบรมรูปทรงม้าเป็นจำนวน 982,672.47 บาท (ต่อมากลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแผนปัจจุบันแห่งแรกของไทย)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวัน อาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร จึงได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ ในด้านที่เกี่ยวการศึกษา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้การสนับสนุนและทรงริเริ่มงานใหม่ๆ ต่อจากที่สมเด็จพระราชบิดาได้ทรงวางรากฐานไว้ให้
1 มกราคม 2454 ได้มีการประกาศจัด การศึกษาของมณฑลกรุงเทพฯโดยประกาศให้ผู้ปกครองของเด็กชายและหญิงซึ่งมีอายุย่างเข้า 8 ปี ส่งบุตรธิดาเข้าเล่าเรียนในโรงเรียน(แต่ปรากฏว่าร่างระเบียบนี้ไม่มีการประกาศใช้) ต่อมาไม่นานนักในปีเดียวกัน เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว. เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ก็ได้ร่าง ความเห็นที่จะจัดการศึกษา ร.ศ. 131” (2454) ขึ้นทูลเกล้าถวาย โดยมุ่งให้มีการจัดการศึกษาภาคบังคับขึ้น แต่ปรากฏว่าพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีพระราชวินิจฉัยอย่างใด
1 กรกฎาคม 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาคณะลูกเสือไทยขึ้น และได้ตราข้อบังคับลักษณะปกครองลูกเสือขึ้นมา โดยมุ่งบ่มเพาะให้เยาวชนไทยเป็นพลเมืองดี
30 ตุลาคม 2456 ได้มีการประกาศ โครงการจัดการศึกษาชาติ พ.ศ. 2456” ซึ่งมุ่งแก้ความเข้าใจผิดของราษฎรในเรื่อง โรคอยากเป็นเสมียนโครงการศึกษาฉบับนี้ได้แบ่งการศึกษาออกเป็นสองสาย คือสายสามัญศึกษาและสายวิสามัญศึกษา อย่างไรก็ตามยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการประกาศการศึกษาภาคบังคับแต่อย่างใด
26 มีนาคม 2459 ได้มีประกาศให้โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยให้ขึ้นอยู่ในสังกัดของกระทรวงธรรมการ
6 เมษายน 2460 ประกาศตั้ง กรมมหาวิทยาลัยขึ้นเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงธรรมการ ทำหน้าที่ในการบังคับบัญชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหน่วยงานในสังกัด
9 มิถุนายน 2461 ประกาศใช้ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์เป็นครั้งแรก ความมุ่งหมายสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ก็เพื่อวางระเบียบกฎหมายการปกครองโรงเรียนราษฎร์ให้เรียบร้อยรัดกุมขึ้น รวมถึงมุ่งประโยชน์ในการควบคุมโรงเรียนราษฎร์ของคนจีนที่สอนภาษาจีน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ
27 เมษายน 2463 ได้มีการจัดตั้ง กรมตำราขึ้นโดยมีหน้าที่สำคัญคือแต่งแบบเรียน จัดตั้งห้องสมุดสำหรับประชาชน และจัดจำหน่ายแบบเรียนให้แพร่หลาย
1 กันยายน 2464 ประกาศใช้ พระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับแรก ปี 2464” ทำให้เด็กเล็กตั้งแต่อายุ 7-14 ปีบริบูรณ์ต้องเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้กำหนดให้จัดเก็บ เงินศึกษาพลีหรือภาษีการศึกษาขึ้นด้วย ภายหลังการประการใช้ พ.ร.บ. ประถมศึกษา 2464 แล้ว ก็ได้มีความพยายามที่จะขยายการศึกษาให้ทั้งทุกตำบล การขยายการศึกษาในระดับที่สูงกว่าประถมศึกษา และการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพของการศึกษา
ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
9 มกราคม 2468 พระเจ้าอยู่หัวทรงมีบันทึกถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีว่า ทรงเห็นเด็กในกรุงเทพฯเพ่นพ่านไปมาซึ่งมีโอกาสเสียคนได้มาก แต่ถ้าได้ศึกษาเล่าเรียนก็จะช่วยลดโอกาสที่จะเสียคนได้บ้าง จากพระราชบันทึกนี้ จึงทำให้มีการประชุมและตกลงที่จะจัดการศึกษาภาคบังคับในกรุงเทพฯ โดยไม่เก็บเงินศึกษาพลี ดังนั้นในปีเดียวกัน จึงมีประกาศการจัดการศึกษาภาคบังคับในกรุงเทพฯ พ.ศ. 2468” ขึ้น
1 เมษายน 2469 ได้มีดุลยภาพข้าราชการทั่วประเทศ สำหรับกระทรวงศึกษาธิการ มีผู้ที่ต้องออกจากราชการ นับตั้งแต่เสนาบดี คือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ตลอดจนข้าราชการอื่นๆ อีกเป็นอันมาก และในระหว่าง 2469-2474 เป็นระยะที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ทำให้การปรับปรุงการศึกษาต้องชะงัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น